เปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการ สำหรับ GLO Cup หรือ ฟุตบอลเยาวชน 8 คน ชิงแชมป์ประเทศไทย ที่นอกจากเงินรางวัลรวมที่สูงกว่า 1 ล้านบาทแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เหล่าดาวรุ่งที่ทำผลงานได้ดี ได้บินไปฝึกซ้อมกับทีมในเจลีกถึง 6 เดือน
ทั้งนี้ อันที่จริง ฟุตบอล 8 คนนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะญี่ปุ่นเอง ก็ใช้รูปแบบนี้ในการพัฒนาเยาวชนของพวกเขามาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
มันมีจุดเด่นอย่างไร เพราะเหตุใด ชาติเบอร์ 1 ของเอเชีย ถึงโอบรับฟุตบอล 8 คน ติดตามไปพร้อมกัน
[ฟุตบอล 8 คนคืออะไร?]
ญี่ปุ่น ถือเป็นชาติที่มีระบบพัฒนาเยาวชนที่แข็งแกร่งชาติหนึ่งของเอเชีย ที่ทำให้พวกเขาสามารถผลิตผู้เล่นฝีเท้าดี ขึ้นมาเล่นในทีมชาติอย่างไม่ขาดสาย รวมถึงยังเป็นชาติที่ส่งออกผู้เล่นไปค้าแข้งในยุโรปมากที่สุดในทวีป
และหนึ่งในระบบที่พวกเขาใช้สร้างแข่งดาวรุ่งในช่วงกลายปีที่ผ่านมา ก็คือ ฟุตบอล 8 คน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก โคโสะ ทาชิมะ อดีตนายกสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น JFA สมัยที่ยังเป็นประธานฝ่ายเทคนิค
ทาชิมะ มองว่าฟุตบอล 11 คน เร็วเกินไปสำหรับผู้เล่นประถม (ป.5- ป.6) จึงได้แนะนำให้เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ 8 คน ก่อนที่ในปี 2011 JFA จะปรับให้ฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์ญี่ปุ่น (JFA U12 ชิงแชมป์ญี่ปุ่นในปัจจุบัน) มาแข่งในรูปแบบนี้
สำหรับฟุตบอล 8 คน นอกจากจำนวนผู้เล่นที่ลดลงแล้ว ขนาดของสนามยังลดลงเหลือครึ่งหนึ่งจากสนามปกติ รวมถึงประตูที่ย่อขนาดลงมาเล็กน้อยที่ 2.15x5 ขณะที่ผู้ตัดสินจะใช้แค่คนเดียว (ไม่มีผู้กำกับเส้น) และไม่มีล้ำหน้า
นอกจากนี้ มันยังมีกฎพิเศษอย่าง ห้ามเขี่ยแล้วยิง ซึ่งเป็นแทคติกที่ได้รับความนิยมมากในระดับมัธยมต้น รวมถึง หากได้รับใบแดง สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นคนนั้นออก แล้วเอาคนอื่นแทนได้ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบในตัวผู้เล่นมากเกินไป
แน่นอนว่าในตอนแรกมันย่อมถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะในแง่ว่าหากเล่นฟุตบอล 8 คนมาก่อน จะทำให้เกิดการ “ต่อไม่ติด” หากขึ้นไปเล่นฟุตบอล 11 คนหรือไม่ และทำให้โค้ชเยาวชนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับรูปแบบนี้
“ความเห็นส่วนตัวของผม ฟุตบอล 11 คน เหมาะกับเด็กรุ่น U12 มากที่สุด ส่วนฟุตบอล 8 คน เหมาะแค่การซ้อม” คาสุโตชิ มุราอิ อดีตเฮดโค้ช คาชิวะ เรย์โซล U12 กล่าวกับ Sportsnavi
“ในเมืองคาชิวะ เราใช้เล่นฟุตบอล 7 คนสัปดาห์ละครั้ง ในการฝึกซ้อมสำหรับเด็กป.4 กับสโมสรที่เป็นพันธมิตร นอกจากนี้ เรายังได้ฝึกซ้อมแบบปิดกับหน่วยพัฒนาเยาวชนของเจลีก ด้วยระบบ 9 คนสำหรับเด็กชั้น ป.5”
“ส่วน ป.6 จะใช้เป็นฟุตบอล 11 คน และหลังทัวร์นาเมนต์ เราจะให้พวกเขาลงเล่นในสนามแบบเดียวกับที่นักเรียนชั้นม.ต้นใช้ เพื่อให้พวกเขาเข้าใกลล้ฟุตบอลผู้ใหญ่มากที่สุด”
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป เหล่าโค้ชเยาวชน ก็เริ่มเห็นประโยชน์ของมัน
[รากฐานระบบเยาวชนญี่ปุ่น]
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเด่นสำคัญของฟุตบอล 8 คน คือการเล่นกับพื้นที่ เนื่องจากขนาดของสนามที่แคบลงถึงครึ่งต่อครึ่ง แต่จำนวนผู้เล่นน้อยกว่าเดิมแค่ฝั่งละ 3 คน จึงทำให้ผู้เล่นได้มีส่วนร่วมกับเกมอย่างทั่วถึงจากระบบนี้
นอกจากนี้ด้วยพื้นที่ที่จำกัด ยังทำให้ผู้เล่นมีโอกาสได้แสดงจุดแข็งของตัวเองอย่างเต็มที่ แถมเมื่อความแข็งแกร่งของทีมถูกสะท้อนออกมาจากชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ ก็ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างทีมที่เก่ง กับทีมที่อ่อน ได้ชัดเจนขึ้น
“เราลองเล่นด้วยตัวผู้เล่นที่น้อยลงอยู่บ้าง แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์แบบ 1-1 หลายครั้ง ทำให้ในการแข่งขันมีการปะทะและการฟาล์ว มากขึ้นจากความรู้สึกเพื่อเอาชนะ” ฮิเดยูกิ วาคาบายาชิ โค้ช ฟานาติคอส จากจังหวัดกุมมะ ให้ความเห็น
“และเมื่อจุดแข็งของทีมเริ่มเห็นชัดขึ้น ก็ทำให้เกิดชัยชนะตามมาอีกมากมาย แม้จะเป็นฟุตบอล 11 คน เรายังเอาชนะด้วยเลข 2 หลัก หรือบางทีอาจจะเห็นสกอร์ 20-30 เลยด้วยซ้ำ แต่ทีมที่อ่อนกว่าอาจจะลงเอยด้วยการเกลียดฟุตบอลไปเลย”
ขณะเดียวกัน ด้วยขนาดของสนาม ยังทำให้ผู้เล่นทุกตำแหน่งมีส่วนร่วมทั้งเกมรับและเกมรุก ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะในการตัดสินใจ ทั้งตอนเป็นฝ่ายบุก และตอนเป็นฝ่ายป้องกัน ที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการเล่นในระดับที่สูงขึ้นในฟุตบอล 11 คน
และที่สำคัญที่สุด ยังทำให้เกิดการรวมทีมได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะทีมท้องถิ่น เนื่องจากในปัจจุบัน ญี่ปุ่นประสบปัญหาประชากรเกิดน้อยลง ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทุกด้าน รวมถึงกีฬาที่ต้องเล่นเป็นทีม
ยิ่งไปกว่านั้นการที่สนามมาตรฐานถูกแบ่งออกเป็น 2 ยังทำให้สามารถลงเล่น 2 สนามไปพร้อมกัน และทำให้ผู้เล่นเยาวชน มีโอกาสได้ลงเล่นมากขึ้นกว่า 11 คน
“มันเป็นเรื่องยากมากสำหรับสโมสรท้องถิ่น ที่จะมีผู้เล่นเก่งๆ ครบ 11 คน” ฮิเดโอะ ฟูจิซาวะ ตัวแทนสโมสร เอฟซี คามิไซโง WEST KIDS จากจังหวัดฟูคูโอกะ อธิบาย
“หนึ่งในสเห่ห์ของมัน (ฟุตบอล 11 คน) คือทีมสามารถผสมผสานและใช้ประโยชน์จากลักษณะเฉพาะตัวของผู้เล่น อย่างเด็กที่มีความเร็ว เด็กที่มีเทคนิค เด็กที่สูง หรือเด็ดที่ป้องกันเก่งเข้าด้วยกัน”
“แต่สำหรับฟุตบอล 8 คน ถ้าคุณมีจุดอ่อนอยู่ตรงไหน คุณแพ้ได้อย่างง่ายดาย”
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ฟุตบอล 8 คน กลายเป็นทีมยอมรับในหมู่โค้ชเยาวชนญี่ปุ่น ที่ถูกใช้ในการปลูกฝังพื้นฐานที่สำคัญ ก่อนที่พวกเขาจะเติบโตขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น
และตอนนี้ ประเทศไทย ก็มีการแข่งขันฟุตบอล 8 คนอย่างเป็นทางการในชื่อ “GLO CUP 2025” ที่จะแบ่งการแข่งขันเป็นรุ่นอายุ ไม่เกิน 15 ปี และไม่เกิน 18 ปี รวมกว่า 672 ทีมทั่วประเทศ
โดยรูปแบบบการแข่งขัน จะแบ่งออกเป็น 7 ภาค ภาคละ 48 ทีม แล้วคัดเข้ามาเล่นในรอบสุดท้าย 32 ทีม เพื่อหาทีมที่ดีที่สุดของประเทศไทย
นอกจากนี้ นักเตะที่มีฝีเท้าเข้าตา อาจจะได้รับเลือกเป็น GLO STAR ที่จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้นแค่ 30 คน (รุ่นละ 15 คน) ที่จะได้เดินทางไปฝึกซ้อมกับ อวิสปา ฟุคุโอกะ สโมสรในเจลีก เป็นระยะเวลาถึง 6 เดือน